รู้จักพิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง

รู้จักพิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง


1. รู้จักพิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง
        พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารศาลปกครอง มีพื้นที่จัดแสดง 187.20 ตารางเมตร และเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจเข้าชมตั้งแต่
​วันที่ 20 กันยายน 2554 โดยจัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศาลปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครองของไทย สำหรับนิสิต นักศึกษา
นักวิชาการ ข้าราชการและประชาชน ตลอดจนชาวต่างประเทศที่สนใจ
       พิพิธภัณฑ์ศาลปกครองเป็นแหล่งเรียนหนึ่งของศาลปกครอง ที่มีข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี นับจากจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จัดให้มีองค์กรพิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2417ที่ทรงจัดตั้งเคาน์ซิลออฟสเตดที่ปรึกษาราชการแผ่นดินขึ้น และมีพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นศาลปกครองในปัจจุบัน 

   

 

1.2 การจัดแสดง
         พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง ใช้การจารึกเป็นแนวคิดหลักในการนำเสนอเรื่องราว โดยใช้เทคโนโลยีหลากหลายชนิดเช่น การแกะสลักบนหิน  การกัดกรด
การเผาด้วยความร้อนการตัดด้วยเลเซอร์ บอกเล่าที่มาและเรื่องราวของศาลปกครองบนผนังที่ตกแต่งด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน เป็นสัญลักษณ์แทนการเคลื่อนที่
ของกาลเวลาและวิวัฒนาการของสังคมจากยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่ง

        พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง

           พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง ประกอบด้วยเนื้อหา ดังนี้

         ส่วนที่ 1 ร้องทุกข์ถวายฎีกา  เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการร้องทุกข์ของประชาชนต่อผู้ปกครองประเทศซึ่ง มีรูปแบบการร้องทุกข์แตกต่างกันตามยุคสมัย เช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ใช้วิธีการสั่นกระดิ่ง ร้องทุกข์ ในสมัยอยุธยา ใช้วิธีร้องเรียนต่อเจ้าขุนมูลนายหรือร้องเรียนต่อพระมหากษัตริย์
ผ่านเจ้าขุนมูลนาย ที่ตนสังกัด และในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้วิธีตีกลองร้องทุกข์ (กลองวินิจฉัยเภรี)

         ส่วนที่ 2 ที่ปฤกษาแห่งแผ่นดิน  การร้องทุกข์ของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน จึงทรงแต่งตั้ง“เคาน์ซิลออฟสเตด” หรือคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง
คือ การพิจารณาเรื่องที่ราษฎร ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกับสภาแห่งรัฐ (conseil d’Etatหรือ council of state) ของประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรป
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งศาลปกครองในปัจจุบัน

        ส่วนที่ 3 เรื่อง “ปกครอง” ในวันวาน การจัดตั้งองค์กรวินิจฉัยคดีปกครอง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาท ทางปกครองระหว่างรัฐกับเอกชน
ได้เริ่มภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 และได้มีการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมาหลายองค์กร และพัฒนามาเป็นศาลปกครองในปัจจุบัน

         ส่วนที่ 4 ปฐมกาลแห่งศาลปกครองไทย  ความสำเร็จจากการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 ส่งผลให้มีสำนักงานศาลปกครอง ทำหน้าที่หน่วยงานธุรกิจของศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครอง
เริ่มเปิดทำการ โดยเช่าอาคาร Exim ชั้น 22 – 23 ถนนพหลโยธิน ต่อมา กลาง พ.ศ. 2543 ได้เช่าอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ชั้น 31 – 37 และชั้น 43
ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ เป็นที่ทำการชั่วคราว

       

            ส่วนที่ 5 ศักราชใหม่แห่งความยุติธรรม  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง ศาลปกครอง
แยกต่างหากจากศาลอื่น และเปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมเกี่ยวกับข้อพิพาททางปกครองแก่คู่กรณีเพื่อ
ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

         ส่วนที่ 6  สยามร่มเย็น แผ่นดินเป็นสุข นับตั้งแต่เปิดทำการศาลปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน ศาลปกครองได้เปิดทำการแล้ว
รวมจำนวน 11 แห่งซึ่งแต่ละแห่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และเขตอำนาจของแต่ละชั้นศาล  ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ไม่ว่าอยู่แห่งหนใด สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวก

         ส่วนที่ 7 ทั่วถิ่นทุกข์ ใกล้ไกลได้พึ่งพา  อีกภารกิจหนึ่งของศาลปกครอง คือ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ ศาลปกครอง กฎหมายปกครองและ
บรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชน ผู้นำชุมชนและสื่อมวลชน เพื่อให้เข้าใจอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองมากยิ่งขึ้น

        ส่วนที่ 8 สานสัมพันธ์เดินหน้าสู่สากล ศาลปกครองได้พัฒนาทางด้านวิชาการโดยร่วมมือกับรัฐบาล และหน่วยงานในต่างประเทศ
ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศ จึงถือเป็นอีกภารกิจหนึ่ง ที่ศาลปกครองดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาวิชาการด้านกฎหมายปกครอง ด้านบุคลากรและการสร้างบรรทัดฐานการพิจารณาคดีปกครองให้อยู่ในระดับสากล

        ส่วนที่ 9. แม้ผ่านพ้นวันใดได้จดจำ ปิดท้ายการเข้าชมด้วยการถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ ศาลปกครองจาก Photo booth
พร้อมส่ง e-mail ให้ผู้เข้าชมได้นึกถึงวันหนึ่งที่ได้มาเยือน “พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง”