ที่ประชุมแผนกคดีพิพาทของสภาแห่งรัฐได้พิพากษาคดีที่มีประเด็นคล้ายคลึงกันในเรื่องโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาทางศาสนา พลเมืองรายหนึ่งของเทศบาลเมืองเทรลาเซ่ (Trélazé) ตำหนิเทศบาลที่เป็นเจ้าของออร์แกนในโบสถ์ประจำท้องถิ่น สมาคมแห่งหนึ่งในเมืองลียงคัดค้านที่ว่าการเทศบาลในการติดตั้งลิฟต์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าออกมหาวิหารในเมืองฟูวิแยร์ (Fourvière) การสร้างโรงฆ่าแกะในเมืองม็องส์ยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะสำหรับชาวมุสลิมที่ใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลบูชายัญ (วันที่อับราฮัมบูชายัญบุตรชายให้แก่พระเจ้า) สภาเทศบาลเมืองมงเปลิเย่ร์ถูกตำหนิในกรณีใช้ห้องเอนกประสงค์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวมุสลิม และสุดท้าย ได้มีการยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อสภาแห่งรัฐเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าทางปกครองระยะยาว (เป็นเวลา 99 ปี) ระหว่างเทศมนตรีเมืองมงเทรยกับผู้รวมกลุ่มทางศาสนาเพื่อดำเนินการก่อสร้างมัสยิด ด้วยเหตุนี้ โดยหลักแล้วศาลปกครองสูงสุดจึงจำเป็นที่จะต้องออกมาแถลงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่นกับหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 1905 จากคำตัดสินทั้งห้าคดี สภาแห่งรัฐได้กล่าวย้ำว่าโดยอาศัยอำนาจตามมาตราหลักของกฎหมายดังกล่าวหน่วยงานของรัฐสามารถให้เงินช่วยเหลือเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของการปรับปรุงซ่อมแซมและการทะนุบำรุงอาคารสถานที่ที่ใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณะทางศาสนาซึ่งหน่วยงานของรัฐเคยใช้สถานที่นั้นเป็นที่ทำการหรือเคยเป็นผู้ครอบครองในช่วงที่มีการแยกศาสนากับรัฐ นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐยังสามารถให้ความยินยอมเห็นชอบให้สมาคมทางวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาร่วมการแข่งขันการประมูลเพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ทางวัฒนธรรมได้ ในทางกลับกัน หน่วยงานของรัฐก็ถูกห้ามมิให้ช่วยเหลือในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา ในบริบทนี้ บทเรียนสำคัญที่ได้รับจากคำตัดสินของสภาแห่งรัฐ ประการแรกก็คือโดยหลักการแล้ว กฎหมายฉบับปี 1905 ห้ามมิให้ความช่วยเหลือในประกอบกิจกรรมทางศาสนาใดๆ ก็ตาม แต่โดยตัวกฎหมายเองก็ได้กำหนดไว้เป็นหลักการเกี่ยวกับข้อบัญญัติยกเว้นหรืออาจมีการนำกฎหมายอื่นที่มีข้อบัญญัติยกเว้นแบบเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย อีกประการหนึ่งคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตัดสินใจหรือให้เงินช่วยเหลือโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างหรือการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ ที่จำเป็นด้วยเช่นกัน คำตัดสินทั้งห้าเรื่องนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องของประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่นและต้องเคารพต่อหลักความเป็นกลางเกี่ยวกับความศรัทธาทางศาสนา ตลอดจนหลักความเท่าเทียมกัน แต่ไม่ได้หมายรวมถึงเรื่องความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ซึ่งหมายถึงความช่วยเหลือใดๆ ก็ตามในเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา
ศาลปกครอง
วิชาการ
สืบค้นข้อมูล
ประชาสัมพันธ์
บริการประชาชน