
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า
ตามประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 28 มีนาคม 2562
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.770/2564 หมายเลขแดงที่ อ.1220/2565 ที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย กับพวก ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ตามประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 28 มีนาคม 2562 โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด โดยไม่มีคำว่ากิจการร่วมค้า และวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่ระบุว่าบริษัทเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างงานโยธาทุกประการ เพื่อประกวดราคานานาชาติและประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์กับรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ โดยมีผู้ถือหุ้น 3 ราย เมื่อนายชาตรี เขมาวชิรา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของผู้ร้องสอดมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา และไม่ได้มีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ตามข้อ 14 (2) ข) วรรคหนึ่งและวรรคสาม ของประกาศประกวดราคาพิพาท และข้อ 2.14 (2) ข) วรรคหนึ่ง และวรรคสามของเอกสารประกวดราคาพิพาท และไม่อาจใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด ได้ หากผู้ร้องสอดเห็นว่าการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ในรูปนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ไม่สอดคล้องกับประกาศประกวดราคาพิพาทและเอกสารประกวดราคาพิพาท ผู้ร้องสอดยังมีเวลาพอที่จะสอบถามกรณีดังกล่าวต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ก่อนยื่นข้อเสนอราคาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จากการยื่นข้อเสนอราคาในนาม “บริษัท” เพื่อเปลี่ยนเป็นยื่นข้อเสนอราคาในนาม “กิจการร่วมค้า” ประเภทกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยใช้ข้อตกลงกิจการร่วมค้า ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ระหว่าง BINA PURI SDN BHD และบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด และใช้ผลงานของ BINA PURI SDN BHD ในการยื่นข้อเสนอราคาตามประกาศประกวดราคาพิพาทและเอกสารประกวดราคาพิพาทในนามของทั้งสองบริษัทได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอตามประกาศและเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วง แก่งคอย - กลางดง และช่วง ปางอโศก - บันไดม้า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e–bidding) ลงวันที่ 28 มีนาคม 2562 เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) วินิจฉัยอุทธรณ์ โดยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ร้องสอดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/037996 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งอนุมัติยกเว้นให้ผู้ร้องสอดเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และพิจารณาต่อไปว่าผู้ร้องสอดสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้เป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่ชอบตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เรื่อง กำหนดแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding) และวิธีสอบราคา หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิพาท และเอกสารประกวดราคาจ้างพิพาท
การที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย และมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
สำนักงานศาลปกครอง 10 มกราคม 2566