คุณป้ามหาภัย กับป่าไม้ของพวกเรา
คุณป้ามหาภัย กับป่าไม้ของพวกเรา

นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม


 “ป่าไม้” มีไว้ให้ความร่มรื่นกับเราใช่หรือไม่ ?
         ทุกคนคงจะเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า .. ไม่ใช่ ! 
         ที่เห็นกันอย่างนั้นก็เพราะว่า ป่าไม้ให้อะไรกับเรามากกว่านั้นอย่างมากมาย เช่น ให้ความชุ่มชื้นเพื่อนำไปสู่การกลั่นตัวเป็นเม็ดฝนในเวลาต่อมา   
         ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ให้แก่เรา เป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนที่เก็บของป่าไปขาย หรือเป็นแหล่งเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ยังได้ 
         ว่าไปแล้ว ป่าไม้จึงเป็นได้สารพัดสารพันที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมของคนและสัตว์มีความอุดมสมบูรณ์น่าอยู่อาศัย เราทุกคนจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์รักษาป่าเอาไว้
         แต่ประทานโทษ ... ถ้าคิดอย่างข้างต้นกันทุกคน เราก็คงไม่ต้องมีกรมป่าไม้ไว้ทำงาน ดูแลรักษาป่าให้กับเรา เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ยังมีคนอีกบางประเภทที่ไม่ใยดีกับการอนุรักษ์ป่าไม้เอาเสียเลย 
         เรียกว่าขอให้ได้แสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากป่าไม้ของส่วนรวมเถอะ ต่อให้ผิดกฎหมาย ... พวกก็ยอม  แหม ! ช่างกล้า
         ภาระใหญ่ในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่โลก จึงต้องมาหล่นปุ้กลงบนหน้าตักของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เต็มๆ หละคราวนี้ 
         แต่ต้องไม่ลืมว่า ให้เฉพาะภารกิจอย่างเดียว แต่ไม่ให้อำนาจอะไรกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาเลย ก็คงจะไม่ไหว เพราะการจะดำเนินการกับคนที่บุกรุกป่า เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก พอๆ กับเรื่องสลายม๊อบเหมือนกัน 
ไล่ไปตั้งแต่มีคำสั่งให้ผู้บุกรุกออกไปจากป่า สั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือเจ้าหน้าที่เข้ารื้อทำลายเอง เป็นต้น  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่หลวงท่านให้ไว้เท่านั้น 
         ซึ่งกฎหมายที่ว่านี้ก็คือ “พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507” นั่นเอง 
         ลองมาดูตัวอย่างดีๆ ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดูแลรักษาป่าไม้และสิ่งแวดล้อมไว้ให้แก่เราทุกคนกัน 
         เรื่องที่ว่านี้เกิดกับที่ดินอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี คุณป้าท่านหนึ่งเธออ้างว่าที่ดินแปลงของเธอหนะ ซื้อมาจากเจ้าของเดิมซึ่งก็ไม่มีเอกสารสิทธิอะไรทั้งนั้น 
         แล้วจะเป็นที่ป่าสงวนหรือเปล่า แกก็ไม่อาจจะตรัสรู้ได้ เพราะขณะซื้อขายก็ไม่มีใครเดินมาบอกนี่ว่ามันเป็นที่ดินประเภทไหน ป้าแกก็เลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ โดยให้คนงานของแกปลูกพืชไร่เรื่อยมาเป็นนานนมร่วมสิบปี
         วันดีคืนดี ทางราชการก็เอาประกาศมาปิดให้ทราบว่า ที่ดินที่ป้าให้คนงานปลูกพืชไร่ทำมาหากินอยู่ รวมถึงที่ดินของประชาชนคนอื่นในบริเวณเดียวกัน รวมแล้วกว่า 500 ไร่ นั้น เป็นที่ป่าสงวน ! 
         เจ้าหน้าที่ท่านจึงแจ้งข้อหากับคนงานของคุณป้าว่าบุกรุกที่ป่าสงวน และได้ทำการจับกุมคนงาน ยึดเครื่องมือ รถไถที่ใช้ในการปลูกพืชไร่ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย 
         เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อได้ความจากคนงานว่าเจ้าของที่ดินแปลงปัญหานี้คือคุณป้า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านจึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ออกคำสั่งให้คุณป้าและคนงานออกไปจากที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว แล้วก็ให้คุณป้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายออกไปจากที่ดินด้วย 
         เอาหละซี ... เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตามกฎหมายป่าไม้อย่างนี้ มันก็คือ “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม”ชัดๆ 
         แล้วเจ้าคำสั่งที่ว่า ในทางกฎหมายปกครองเขาเรียกกันว่า “คำสั่งทางปกครอง” มีผลบังคับให้ผู้รับคำสั่งคือคุณป้าต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 
         ส่วนคุณป้าจะเห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ศาลท่านช่วยตัดสินให้ได้ 
         แต่โปรดอย่าลืม !!! คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่อย่างนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยยังไง ก็ต้องมีหนังสืออุทธรณ์โต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งภายในเวลาที่กฎหมายนั้นๆ กำหนดเสียก่อน 
         แล้วได้รับแจ้งผลการพิจารณาที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับแจ้งผลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถึงจะมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
         สำหรับคุณป้า ปรากฏว่าแกรู้กฎหมายพอใช้ทีเดียว แกจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ออกคำสั่ง แต่เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วก็ตอบกลับมาว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว 
         คุณป้าแกจึงรีบแจ้นมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 
         นี่แหนะ ... ให้ราชการรู้เสียบ้างว่าไผเป็นไผ รู้จัก ‘คุณป้ามหาภัย’ น้อยไปเสียแล้ว !!
         คดีนี้ต่อมาศาลปกครองสูงสุดท่านได้มีคำวินิจฉัยว่า พื้นที่พิพาทที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกยึดถือครอบครองทำประโยชน์  โดยไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินจำนวนเนื้อที่ 551 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฯ 
          ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่นี้มีไม้ประดู่ ไม้เสลา ไม้มะค่าโมง ไม้แดง ไม้ตะคร้อ   และไม้ชนิดอื่นที่มีค่าจำนวนมาก และมีของป่ากับทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย 
         จึงสมควรกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อรักษาสภาพป่าไม้ของป่า และทรัพยากรธรรมชาติอื่นไว้ โดยจัดเป็นเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 
         ประกอบกับที่ดินพิพาทมีอาณาเขตใกล้เคียงติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และป่าน้ำโจน ซึ่งจัดเป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์  
         ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 กำหนดหลักเกณฑ์การป้องกันรักษาป่าไม้ว่า ถ้ามีการกระทำใดๆ อันเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ใหม่ 
         หรือเป็นการขยายพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกินเพิ่มเติม หรือเป็นการทำลายหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด 
         และเพื่อป้องกันมิให้มีการยึดถือครอบครองพื้นที่ ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่สั่งให้ผู้กระทำผิดออกจากพื้นที่ ทำลาย รื้อถอนและหรือดำเนินการอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด  
         เมื่อผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตรวจพบว่ามีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดิน และเข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ 
         และจับกุมราษฎรและคนงานของผู้ฟ้องคดีได้ ซึ่งต่างให้ถ้อยคำว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งยึดรถไถ ล้อยางและอุปกรณ์ต่างๆ ได้ 
         การที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีและบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือรื้อถอน แก้ไข หรือทำประการใดแก่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 
         กรณีถือได้ว่าผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้มีคำสั่งและดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายกฟ้อง 
         เมื่อกฎหมายให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อดำเนินการกับคนที่บุกรุกทำลายป่าไม้ของพวกเรา เจ้าหน้าที่ เขาก็สามารถทำงานได้ด้วยความสบายใจ ป่าไม้ที่ร่มรื่นมีประโยชน์เหลือหลาย ก็จะยังคงอยู่กับพวกเราตลอดไป อืม ... ส่วนคุณป้า ก็คงต้องไปหาที่ดินตรงอื่นที่ถูกกฎหมาย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทำกินต่อไปก็แล้วกันนะ ‘คุณป้า  มหาภัย’นะ.  (คดีหมายเลขแดงที่ อ.64/2547)


ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ : 16 ม.ค. 2556, 16:19 น. | กลับขึ้นด้านบน |