ในน้ำมีปลา แต่ห้ามจับปลาซะงั้น ? |
นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
‘เมืองไทยเรานี้ แสนดีหนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ...
คำท่องกันมาแต่นมนาน คงพอจะคุ้นหูกันบ้างใช่ไหม ?
ที่เป็นคำให้ท่องกันมาอย่างนั้น เห็นทีจะไม่แปลก เพราะประเทศเราเล่นมีที่ตั้งอยู่ติดทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน ในน้ำไม่มีปลาอุดมสมบูรณ์ให้จับมากินกันได้ตลอดปี ตลอดชาติ ก็ให้มันรู้ไปซี
เพราะฉะนั้น อาชีพทำประมง จึงเป็นอาชีพประจำประวัติศาสตร์ชาติไทยมาแต่โบราณกาลก็ด้วยเหตุฉะนี้นี่แล
แต่ ... อ๊ะอา บางทีก็อย่าประมาทไปเชียว เพราะถ้าพี่น้องชาวประมงทั้งรายใหญ่ รายย่อย เล่นพร้อมใจกันจับปลามาค้าขายด้วยการใช้อุปกรณ์ทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ เพื่อจะจับปลาให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนใจฤดูกง ฤดูกาล กันหละว่าจะเป็นหน้าปลาวางไข่กันหรือไม่
อารมณ์ประมาณว่า ... พวกปลาแกมีหน้าที่ทำก็ทำกันไป ฉันไม่กวน ... ส่วนฉันก็มีหน้าที่จับพวกแกไปขาย อีกทีนึง ถ้ามันจะติดลูกเล็กเด็กแดงของพวกแกไปบ้าง ก็อย่าโวยเชียว...
ขืนเป็นกันอย่างนี้ ลูกเต้าของปลาที่มันทำกันมา ก็ไม่ต้องเติบใหญ่สืบสายพันธุ์กันพอดี เข้าตำราเป็นปลา ก็เหนื่อยฟรีได้เหมือนกัน อะไรประมาณนั้น ...
ทำกันถึงขนาดนี้ ถ้าปลามันพูดได้ มันก็คงอยากจะโวยใส่คนที่จับลูกมันเหมือนกันว่า “ตูก็เหนื่อยเป็นนะโว้ยยยยย ... ไอ้คน !!!” (ฮา)
ก็เพราะความจริงมันเป็นอย่างนี้นี่แหละ ทางบ้านเมืองเขาถึงต้องมีหน่วยงานราชการไว้ดูแลปัญหาแบบนี้โดยเฉพาะ เพราะขืนปล่อยให้พวกพี่ชาวประมงเล่นจับปลากันได้ตามใจชอบ ทะเลก็คงเหลือแต่น้ำไว้ดูต่างหน้ากันพอดี ปลาเปลอสูญพันธุ์กันหมด แถมยังพาลให้สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศวิทยาของประเทศป่นปี้ไปด้วย
แต่พอทางราชการจะห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์จับกันตามอำเภอใจ ก็ให้มีปัญหาตามมาอีกว่า ไอ้ที่ห้ามอย่างนั้น หนะ มันถูกต้องหรือปล่าว หรือทางราชการออกประกาศห้ามกันตามอำเภอใจเสียเอง อย่างเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพรนี่ไง
ต้นสายปลายเหตุมันก็คือว่า ชาวบ้านทั้งยี่สิบสามคนซึ่งทำอาชีพประมง จับปลากันอยู่ในพื้นที่ตำบลปากน้ำหลังสวนกันอยู่ดีๆ ไปๆ มาๆ เกิดได้รับผลกระทบจากการที่หน่วยงานราชการออกประกาศห้ามใช้เครื่องมือบางชนิด ทำการประมงในฤดูที่ปลามีการวางไข่ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ไอ้ฤดูกาลปลาวางไข่ ออกลูก อะไรเนี่ย ... โอเค ชาวบ้านเขาพอเข้าใจอยู่ แต่ไอ้ที่ขัดใจก็ตรงที่คุณพี่ราชการ เล่นห้ามเครื่องมือประเภทอวนสารพัดชนิดที่ชาวบ้านเขาใช้ทำมาหากินกันอยู่ แล้วยังกำหนดระยะเวลาห้ามใช้ตั้ง สามเดือนอีก แล้วชาวบ้านจะเอาอะไรไปจับปลาทำมาหากินกันหละทีนี้
ชาวบ้านคนธรรมดานะ... ไม่ใช่พระสังข์ จะได้มีคาถาเรียกปูเรียกปลากันได้ ป้าดโธ่ !
แต่ช้าก่อน เรื่องนี้ถ้าฟังในมุมของหน่วยงานราชการเขาหน่อย เขาก็มีความห่วงใยดีๆ ต่อสิ่งแวดล้อม อยู่เหมือนกันนะ เพราะเขาให้เหตุผลว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลดังกล่าว เป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะปลาทูที่เราชอบกินกัน
แล้วที่ต้องออกมาตรการเข้มงวดอย่างงั้น ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ เคยมีประกาศห้ามมาแล้ว แต่ชาวบ้านก็มักจะ ดัดแปลงเครื่องมือจับปลาให้เข้าข้อยกเว้นของประกาศห้ามฉบับก่อนๆ แล้วจับปลาในฤดูวางไข่กันในพื้นที่นี้ มาโดยตลอด ทำให้พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ รวมทั้งลูกพันธุ์ ถูกกวาดยกครัวอยู่เรื่อย !
ขนาดนี้แล้วถ้าขืนราชการยังคงปล่อยช้า ปลาทูก็พาลจะพาสูญพันธุ์กันไปหมด เลยต้องออกประกาศห้าม ฉบับนี้ที่เข้มงวดขึ้นหน่อย แต่ถึงยังไงก็ห้ามเฉพาะเขตพื้นที่นี้เท่านั้น ไม่ได้ห้ามใช้ในเขตอื่น
แต่ชาวบ้านเขาไม่ฟังอีร้าค่าอีรมกันแล้ว เล่นออกประกาศห้ามทุบหม้อข้าวกันอย่างงี้ มันทำให้เสียหายต่อเศรษฐกิจชุมชน แล้วเจ้าประกาศเนี่ยก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญกันเห็นๆ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน และยังจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนอีกด้วย ... โอ้โห ! ข้อกล่าวหาไฮโซสุดๆ
ว่าแล้วชาวบ้านทั้งยี่สิบสามคนก็เลยชวนกันมายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าวของทางราชการ
ข้อพิพาทนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านอ้างว่า ได้รับความเดือดร้อนจากประกาศของหน่วยงานราชการ ที่ห้ามชาวบ้านใช้เครื่องมือบางชนิดทำการประมงในฤดูที่ปลาวางไข่ในบางพื้นที่ ซึ่งประกาศลักษณะนี้ มีเนื้อความที่กระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้านเป็นวงกว้าง จึงเป็น “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” อย่างแน่นอน ... คราวนี้ลองมาฟังกันว่า สุดท้ายศาลท่านตัดสินอย่างไร
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๒ ที่กำหนดมาตรการ ห้ามใช้เครื่องมืออวนลากบางชนิด เพราะมีประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำได้ปริมาณมาก และจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจปะปนขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำมากขึ้น
มาตรการตามประกาศฉบับดังกล่าว จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นแก่การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตลอดไป แม้จะกระทบต่อรายได้จากการทำประมงของผู้ฟ้องคดี ทั้งยี่สิบสามคน ก็เป็นเพียงระยะเวลาสามเดือน
ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคนสามารถนำเรือออกไปทำการประมงนอกพื้นที่ หรือใช้เครื่องมือทำการประมงอื่น ที่ไม่ต้องห้าม หรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงในระยะเวลาต้องห้ามดังกล่าว
ผลประโยชน์ของส่วนรวมที่จะได้รับจากการประเมินผลที่ได้จากการกำหนดมาตรการต่างๆ ตามประกาศ ฉบับดังกล่าว สามารถลดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก จึงเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะมากกว่าเมื่อเทียบกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคนได้รับ
นอกจากนั้น การออกประกาศดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติประเภทสัตว์น้ำ ให้ยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะในช่วงระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนดเฉพาะเท่านั้น มิได้ห้ามผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคนทำการประมงโดยสิ้นเชิงและตลอดไป
ประกาศดังกล่าวจึงมิได้กระทบสาระสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพประมงของผู้ฟ้องคดี ทั้งยี่สิบสามคนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด ประกาศฉบับดังกล่าวจึงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายกฟ้อง
เป็นอันว่าเรื่องนี้หน่วยงานราชการเขาหวังดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาของสัตว์น้ำ เพราะต้องการให้ทรัพยากรทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป จึงจำเป็นต้องออกประกาศห้ามเช่นนั้น ก็ขอให้ชาวบ้านทั้งหลายได้เข้าใจหน่วยงานราชการเขาหน่อย เขาทำดียังงี้ ก็ต้องมีให้กำลังใจกันบ้างนะ พี่น้อง. (คดีหมายเลขแดงที่ อ. 51/2547)