หนังสือใหม่ที่น่าสนใจใน “ห้องสมุดสิ่งแวดล้อม” |
หนังสือใหม่ที่น่าสนใจใน “ห้องสมุดสิ่งแวดล้อม” | |
พรรณประภา |
|
ในเว็บไซต์ศาลปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มเติมหนังสือและบทความที่น่าสนใจในคอลัมน์ต่างๆ อยู่เสมอ สำหรับปี 2558 นี้ก็เช่นกัน ทีมบรรณาธิการได้เตรียมข้อมูล ด้านวิชาการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างองค์ความรู้มากมายหลายเล่ม ซึ่งเล่มแรกได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ไปแล้วในสัปดาห์ก่อน ส่วนเล่มอื่นๆ จะทยอยลงต่อไปค่ะ | |
1. รายงานผลโครงการพัฒนาตุลาการศาลปกครองด้านสิ่งแวดล้อม (Green Judges) ปี 2555 : การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ อย่างยั่งยืน ในเล่มจะประกอบไปด้วยสาระที่น่าสนใจหลายส่วน โดยในส่วนแรก เป็นการนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน และการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งหลักการ แนวคิด และกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร อย่างยั่งยืน โดยนักวิชาการในแขนงต่างๆ สำหรับในส่วนที่สอง เป็นเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐในความเสียหาย ทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องการคำนวณค่าเสียหาย การฟื้นฟูและการเยียวยา รวมทั้งหลักกฎหมายและคดีตัวอย่างในเรื่องความรับผิดของรัฐในความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา และในส่วนสุดท้าย เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดูงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรดังกล่าว เนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นข้อมูลแก่ท่านผู้อ่านได้ว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอาจจะดำเนินไปพร้อมกันได้กับแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนนะคะ 2. รายงานผลโครงการพัฒนาตุลาการศาลปกครองด้านสิ่งแวดล้อม (Green Judges) ปี 2556 : วิธีพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในปี 2556 คณะกรรมการด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาค้นคว้าและจัดกิจกรรมทางวิชาการหลายกิจกรรมด้วยกัน โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ที่ได้มานำเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อสำคัญรวม 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทางสิ่งแวดล้อม 2. มาตรการคุ้มครองชั่วคราวในคดีสิ่งแวดล้อม : ปัญหาและการบังคับใช้ 3. ความเป็นไปได้ในการนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ 4. การบังคับคดีในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ ยังได้สรุปสาระที่ได้จากการจัดกิจกรรม ทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีก 2 กิจกรรม คือ 1. กิจกรรมศาลปกครองใส่ใจ ในปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การดำเนินกิจการภายใต้หลักความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ 2. การจัดการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียนกับบทบาทของศาล” ซึ่งศาลปกครองไทยได้รับเกียรติจากตุลาการของชาติอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้น เนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจ วิธีพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองแล้ว ดิฉันเห็นว่าก็ยังจะทำให้ท่านผู้อ่าน ได้ทราบถึงประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีปกครองในคดีสิ่งแวดล้อม ทั้งของประเทศไทยและชาติอาเซียนทั้งหลายอีกด้วย 3. การเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 : ความท้าทาย ทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียนกับบทบาทของศาล ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าศาลปกครองไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียน กับบทบาทของศาล ซึ่งการเสวนาครั้งนั้นได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายน 2556 ผลจากการประชุม ทำให้ได้องค์ความรู้ และแง่คิดในมุมมองของชาติต่างๆ จึงเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง คณะกรรมการด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำหนังสือเพื่อสรุปผลการประชุมแยกต่างหากไว้อีกเล่มหนึ่งเพื่อสรุปประเด็นทางวิชาการที่น่าสนใจในการเสวนาดังกล่าว โดยจัดทำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งรวบรวมเอกสารการนำเสนอและบทความประกอบการนำเสนอของผู้แทนจากศาลของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศไว้ด้วย การเสวนาในครั้งนั้นมีหัวข้อให้ทุกประเทศได้พูดคุยกันทั้งสิ้นถึง 9 หัวข้อ ด้วยกัน ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) ป่าไม้ การตัดไม้และค้าไม้ผิดกฎหมาย ไฟป่าและ หมอกควันข้ามพรมแดน (3) ความหลากหลายทางชีวภาพ และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย (4) มลพิษ (5) สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (6) มาตรการคุ้มครองชั่วคราว : การป้องกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ (7) การระงับ ข้อพิพาททางเลือกโดยศาล (8) การบังคับคดีตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาล และ (9) ความร่วมมือระหว่างศาลในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น เนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้ น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมของอาเซียนที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที พร้อมทั้งเข้าใจบทบาทของศาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนในการอำนวยความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน รวมทั้งเห็นถึงทิศทางที่อาจเกิดความร่วมมือกันระหว่างศาลในภูมิภาคอาเซียนในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อ การป้องกันและแก้ไขเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมภายใต้อำนาจตุลาการ 4. คู่มือแนวทางการสั่งคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Guideline) 5. คู่มือแนวทางการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Manual) ดิฉันขอเรียนว่า คู่มือที่คณะกรรมการด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้จัดทำขึ้นในปี 2553 และ ปี 2555 ตามลำดับ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองเป็นไปอย่างมีทิศทาง ด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม สำหรับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือประชาชน โดยคำนึงถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมเป็นประการสำคัญ ดังนั้น จึงเป็นโชคดีของทีมบรรณาธิการที่คณะกรรมการฯ ได้มีมติอนุญาตให้นำคู่มือทั้งสองเล่มนี้มาเผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย ท่านผู้อ่านที่สนใจหนังสือที่ได้แนะนำดังกล่าวข้างต้น สามารถติดตามได้ที่คอลัมน์ “ห้องสมุดสิ่งแวดล้อม” นะคะ พบกันใหม่เร็วๆ นี้ค่ะ |