[ศาลปกครอง]สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่จะได้รับอากาศที่สะอาด
สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่จะได้รับอากาศที่สะอาด

สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่จะได้รับอากาศที่สะอาด

ก้านมะลิ 
ผู้ช่วยบรรณาธิการ

สิทธิที่จะได้รับอากาศที่สะอาด เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

(แหล่งที่มาภาพ : The Air Quality http://www.theairquality.com)

 เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข่าวการสุ่มตรวจและจับปรับผู้ที่สูบบุหรี่ในสถานบริการและสถานบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ผับ บาร์ หรือคาราโอเกะ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 เรื่อง กำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ 
พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ร้านค้า สถานบริการ และสถานบันเทิง เป็นสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนเจ้าของสถานที่ หากไม่ติดป้ายสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535

 สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 ฯ นั้น เป็นประกาศที่ขยายพื้นที่คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่เพิ่ม โดยห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร 100 % มีเพียงท่าอากาศยานนานาชาติที่ได้รับการยกเว้นให้มี “เขตสูบบุหรี่” เป็นการเฉพาะภายในอาคารได้

แหล่งที่มา   ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 http://www.ratchakitcha.soc.go.th)

 และก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้มีข่าวดัง ซึ่งเป็นที่สนใจของสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก ก็คือ ศาลปกครองสูงสุดของประเทศไทยได้มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของซองบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้บุหรี่ต้องจัดให้มีการแสดงฉลากรูปภาพข้อความคำเตือนถึงพิษภัยของบุหรี่บนซองผลิตภัณฑ์ โดยต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของซอง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และกำหนดให้บุหรี่ที่บรรจุในกล่อง 10 ซอง ต้องมีรูปภาพคำเตือน 10 แบบไม่ซ้ำกัน

ภาพตัวอย่าง ต้นแบบฉลากท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556แหล่งที่มา (พร้อมต้นแบบฉลากทั้ง 10 แบบ) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556 http://www.ratchakitcha.soc.go.th

 ผลจากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าบุหรี่ต้องพิมพ์ฉลากรูปภาพพร้อมข้อความเตือนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ซองบุหรี่ จากที่เคยถูกกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 55 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้ซองบุหรี่ของไทยมีพื้นที่สำหรับการเตือนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยแซงหน้าซองบุหรี่ ของประเทศออสเตรเลีย ที่กำหนดให้ด้านหน้าต้องมีการเตือนร้อยละ 75 ของพื้นที่ และด้านหลังต้องมีข้อความเตือนร้อยละ 90 ของพื้นที่ ไปเล็กน้อย

 ศาลปกครองสูงสุดได้ให้เหตุผลในคำสั่งดังกล่าวว่า ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นกรณีการออกข้อกำหนดที่ไม่น่าจะเกินขอบเขตวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ อันเป็นไปเพื่อการป้องกันโรคภัยอันเกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ และการคุ้มครองดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนและเยาวชน ประกาศดังกล่าวจึงยังไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 234/2557 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 269/2557)

 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดของประเทศไทยดังกล่าว เป็นข่าวดังในระดับโลก เพราะทำให้เห็นแนวโน้มของศาลในทุกประเทศที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปในทิศทางเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ “เจแปน โทแบคโค” (เจทีไอ) เคยแถลงการณ์ถึงเหตุผลที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลไทยว่า แผนเพิ่มขนาด ภาพเตือนบนซองบุหรี่ของกระทรวงสาธารณสุขไทยจะแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของเจทีไอในไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไม่สมควร ทั้งต่อการแข่งขันอย่างชอบธรรม สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วน “ฟิลิป มอร์ริส” ซึ่งเป็นบริษัท ยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งบริษัทที่ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลไทยในเวลาใกล้เคียงกันนี้ด้วยเช่นกัน ได้เคยยื่นฟ้องคดี ต่อศาลออสเตรเลีย แต่ก็เพิ่งแพ้คดีไป โดยศาลสูงสุดของประเทศออสเตรเลียก็เพิ่งห้ามไม่ให้แสดงชื่อยี่ห้อของบริษัทบุหรี่บนซองบุหรี่

 สาเหตุที่ศาลแทบทุกศาลทั่วโลกล้วนแล้วมีทิศทางไปในทำนองเดียวกันเช่นนี้ ก็เพราะการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่นั้น ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะได้รับอากาศที่สะอาด (Rights to clean air) ที่มีการรับรองและคุ้มครองว่า คนทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้หายใจในอากาศ ที่สะอาด (All people have a fundamental right to breathe clean air.) ดังที่ปรากฏในกรอบอนุสัญญา ขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (The WHO Framework Convention on Tobacco Control) ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ให้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547

(ข้อมูลแปลและเรียบเรียงจาก http://www.who.int/tobacco/mpower/publications/en_tfi_mpower_brochure_p.pdf)

 ส่วนประเทศที่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก คือ ประเทศภูฏาน โดยมีโทษจำคุกถึง 5 ปี สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่

 นอกจากประเด็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ได้พูดคุยกันไปแล้ว วันนี้ก้านมะลิ ยังมีบทความที่อาจสะท้อนให้เห็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมุมของการคุ้มครองสิทธิ ของผู้สูบบุหรี่ในประเทศญี่ปุ่นมาฝากผู้อ่านกันด้วยค่ะ รายละเอียดเป็นอย่างไรติดตามอ่านได้จากบทความเรื่อง “ ห้องซาวน่าในสนามบิน ? ” ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ. 
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม - ห้องซาวน่า ในสนามบิน ? คลิกที่นี่

 






ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ : 20 พ.ย. 2558, 11:59 น. | กลับขึ้นด้านบน |