เกาะกระแสสิ่งแวดล้อม....ของแข็ง ของเหลว และ แก๊ส |
กาะกระแสสิ่งแวดล้อม....ของแข็ง ของเหลว และ แก๊ส | |
ต้นเมเปิ้ล |
|
เกาะกระแสสิ่งแวดล้อมรอบสัปดาห์นี้ อยู่กับเรื่องราวของ 3 สถานะของสสาร ของแข็ง ของเหลว และ แก๊ส เริ่มกันที่เรื่องราวของ “ของแข็ง” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และตัวแทนประชาชนที่ได้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.มาบข่า ต.นิคมพัฒนา ต.ห้วยโป้ง และ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง รวม 71 คน ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รมว.อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอน ใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน ที่ออกให้ บริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์ โค้ก จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตถ่านหินโค้ก เนื่องจากเกรงว่า การผลิตถ่านหินของโรงงานดังกล่าวจะสร้างมลภาวะให้เกิดกับชุมชนและเป็นภัยต่อสุขภาพ ซึ่งคงจะต้องติดตาม คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคดีนี้ต่อไปว่าจะลงเอยอย่างไร | |
|
|
![]() |
|
เรื่องถัดไปเป็นเรื่องราวของ “ของเหลว” ที่แม้สสารจะเปลี่ยนสถานะไปแล้ว แต่ผู้ฟ้องยังเป็นคนเดิม นั่นคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ครั้งนี้นำชาวบ้านจาก 4 อำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ มายื่น ฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมของบริษัทซ่านซี เหยียน ฉาง ปิโตรเลียมกรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้เข้าทำการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองอยู่ โดยการสำรวจและขุดเจาะนั้นได้มีการใช้วัตถุระเบิดเพื่อระเบิดหลุมขุดเจาะหลายพันหลุม โดยชาวบ้านไม่ได้ยินยอม อีกทั้ง ชาวบ้านเกรงว่าการขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชนในแถบนั้นด้วย เพราะโครงสร้างของชั้นดินของพื้นที่ในแถบนั้นเป็นหินทราย ซึ่งอาจจะเกิดการยุบตัว กระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลใต้ดิน อีกทั้งดินระเบิดที่ใช้มีส่วนประกอบของสารเคมีหลายรายการที่อาจ จะตกค้างในดิน หรือปนเปื้อนในน้ำ ซี่งอาจส่งผลต่อการปลูกพืชของชาวบ้านด้วย เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวสั่งให้ผู้รับสัมปทานระงับการจุดระเบิดหลุมขุดเจาะไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา การขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของวิธีพิจารณาคดีปกครอง ที่ผู้ฟ้องคดีสามารถขอให้ศาลสั่งกำหนดมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของตนที่ยังคงอยู่ในระหว่างที่ศาลปกครองยังพิพากษาคดีไม่แล้วเสร็จได้ หรือในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งทางปกครอง ก็สามารถขอให้ศาลสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองนั้นไว้ก่อนได้ ซึ่งศาลปกครองจะพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวหรือทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงทุกด้านประกอบกัน | |
![]() |
|
มาต่อกันที่เรื่องของสถานะที่สาม เป็นเรื่องของ “แก๊ส” ที่เป็นประเด็นระดับโลกเมื่อวุฒิสภาของออสเตรเลียมีมติ 39-32 ให้ยกเลิกนโยบายเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ซึ่งเป็นไปตามคำสัญญาที่นายโทนี แอบบ็อตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้ไว้ในคราวหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2556 นับเป็นชาติแรกในโลกที่ยกเลิกกฎหมายนี้ กฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอนของออสเตรเลียกำหนดให้ประชาชนต้องจ่ายภาษี 22.60 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 723.20 บาทต่อการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 1 เมตริกตัน กฎหมายดังกล่าวได้รับการประกาศใช้โดยรัฐบาลพรรคแรงงานชุดที่แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 เพื่อเป็นการกดดันให้ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียชุดปัจจุบันมองว่าการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้ครัวเรือนจ่ายค่าไฟน้อยลง และนำเงินที่ได้คืนมาจากการไม่ต้องจ่ายภาษีคาร์บอนไปใช้จ่ายหรือลงทุนทางอื่น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสำหรับประเด็นเรื่องความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกตั้งคำถามจากนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก รัฐบาลออสเตรเลียชี้แจงว่ายังมีแผนที่จะเจียดเงินภาษีประชาชนมาตั้งเป็นกองทุนมูลค่า 2,380 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อใช้กระตุ้นและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้หันไปใช้พลังงานสะอาดแทนวิธีการเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าว ซึ่งแนวทางไหนจะสัมฤทธิ์ผลมากกว่ากันก็ต้องตามดูกันต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงจะต้องฝากความหวังไว้ที่ประชากรในโลกใบนี้ว่า ทุกคนล้วนสามารถร่วมด้วยช่วยกันที่จะดูแลโลกนี้ให้สะอาด ปราศจากจากมลภาวะได้ ขอเพียงตระหนักรู้ใน “ผล” ของสิ่งที่ตนกำลังกระทำว่า เด็ดดอกไม้เพียงดอกเดียว ก็ย่อมสะเทือนถึงดวงดาวได้. |