เขื่อนไซยะบุรี ปรากฏการณ์ใหม่ไร้พรมแดนในคดีปกครองสิ่งแวดล้อม |
เขื่อนไซยะบุรี ปรากฏการณ์ใหม่ไร้พรมแดนในคดีปกครองสิ่งแวดล้อม | |
ฝนดิน |
|
แม้กระแสฟุตบอลโลกจะร้อนแรงแซงทุกโค้ง กลบเรื่องราวอื่นให้เป็นข่าวยิบย่อย แต่บันไดศาลปกครองเราก็ไม่เคยแห้ง คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังทยอยเคลื่อนมายังศาลเราอย่างไม่ขาดสาย เรียกได้ว่าไม่มีตกกระแส ซ้ำวางหลักวางแนวสร้าง มิติใหม่ๆ ให้ได้ติดตามกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อไม่ช้าไม่นาน เราเพิ่งจะได้เห็นชาวประมงจากประจวบคีรีขันธ์มาฟ้องคดีกรณีรัฐปิดอ่าวจน ไม่สามารถทำกินได้อย่างปกติ และล่าสุดเครือข่ายชาวบ้านจาก ๘ จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ยกพลกันมาเยือนศาลปกครอง เพื่อมาฟังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดว่าจะรับฟ้องคดีที่พวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่ เขื่อนไซยะบุรี!!! ชื่อนี่อาจทำให้หลายคนงุนงงสงสัย บ้านเรามีเขื่อนชื่อนี้ด้วยหรือ แล้วชาวบ้านเขาจะเดือดร้อนกันยังไง ลองมาดูกัน เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนพลังน้ำ ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างขึ้นมากั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ในจังหวัดไซยะบุรี ทางเหนือของประเทศลาว ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศไทยในการก่อสร้าง และต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เข้าไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ของประเทศลาว เพื่อซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ณ ชายแดน เอามารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๗๓ ดูแล้ว เอ๊ะ จะยังไงกัน เขื่อนก็ไม่ใช่ของเรา การซื้อขายไฟฟ้าก็เป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลสามารถกระทำได้ ถือเป็น การนำเข้าไฟฟ้ามาพัฒนาประเทศ ดีเสียอีกไม่ใช่หรือ แต่กรณีนี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่คิด และก็เป็นเรื่องขึ้นมาได้ เมื่อเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ ๘ จังหวัด ริมแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศไทยเห็นว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาวมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง จึงได้ยื่นจดหมายคัดค้านการสร้างเขื่อนดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อให้ทบทวนการสร้างเขื่อนดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล และเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าวถึง ๙๕ % หากไทยไม่สั่งซื้อไฟฟ้าจากที่นั่น การสร้างเขื่อนดังกล่าวก็ต้องถูกยกเลิก ชาวบ้านเห็นว่า การที่ประเทศไทยเข้าไปรับซื้อไฟฟ้าและสนับสนุนด้านการเงินในการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้น จำต้องปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น การที่ประเทศไทยเข้าไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กรณีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยได้ฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลพิพากษาโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสั่งให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว ให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานและมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้การไฟฟ้าฯ เข้าทำสัญญาดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว |
|
![]() ที่มาภาพ http://www.siamintelligence.com |
เมื่อดูรูปเรื่องคดีแล้ว จะเห็นได้ว่ากรณีพิพาทข้างต้นมีความแปลกแตกต่างจากคดีปกครองอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วมูลคดีฟ้องจะเกิดในประเทศ แต่สำหรับกรณีนี้มีมูลเหตุการฟ้องคดีที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลท่านจะรับฟ้องคดีในลักษณะนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ เรามาลุ้นพร้อมๆ กันกับชาวบ้านริมฝั่งโขง คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำสั่งที่ คส.๘/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ โดยคดีนี้ มีประเด็นให้พิจารณา ๓ ประเด็นด้วยกัน ศาลท่านไม่รับฟ้องในสองประเด็นแรก คือ ประเด็นในเรื่องการขอให้ยกเลิกโครงการซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ศาลท่านเห็นว่าผู้ฟ้องคดีคือเครือข่ายชาวบ้านริมฝั่งโขงไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรง จึงไม่มีสิทธิฟ้องในประเด็นนี้ ส่วนอีกประเด็น กรณีขอให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานและมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้การไฟฟ้าฯ เข้าทำสัญญาดังกล่าว นั้น ศาลท่านเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องประเด็นนี้เช่นกัน |
![]() |
|
ในที่สุด หลังจากลุ้นระทึก ชาวบ้านริมฝั่งโขงที่เป็นผู้ฟ้องคดีโดยตรง และชาวบ้านในพื้นที่ กลับมีเฮในประเด็นสุดท้าย โดยศาลท่านมองว่า ในประเด็นคำขอข้างต้น ผู้ฟ้องคดีต้องการให้ศาลปกครองมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่าง เพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนในนามเครือข่ายประชาชนแปดจังหวัดลุ่มน้ำโขงเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่แปดจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง อันได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปที่มิได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่แปดจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนจึงมีสิทธิมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตน และสิทธิดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม ตามมาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนได้รับจำต้องมีคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่าง เพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง(๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.เดียวกัน ส่วนในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีนั้น แม้คดีนี้จะเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดี แต่การฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนเป็นการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อให้ ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่แปดจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง อันเป็นชุมชนท้องถิ่นของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคน กรณีถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะรับคดีนี้ไว้พิจารณาได้ |
|
กรณีนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการรับรองสิทธิฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แม้การดำเนินการของรัฐจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ถ้าเกิดผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับชุมชนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศ สิทธิชุมชนในส่วนนี้ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เครือข่ายประชาชนในชุมชนเหล่านั้นสามารถรวมตัวกันฟ้องคดีได้ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จากผลของคดีนี้ ทำให้ผู้เขียนไพล่คิดไปถึงการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียน ว่าด้วยความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียนกับบทบาทของศาล ซึ่งศาลปกครองเราเป็นเจ้าภาพ เวทีนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตุลาการอาเซียน ในการวินิจฉัยตัดสินคดีอันเกิดจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการปัญหาร่วมกัน ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และที่สำคัญ กระบวนการยุติธรรมของศาลจะนำไปสู่การเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา สิ่งแวดล้อมได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตทั้งของในประเทศ ภูมิภาค และของโลกได้ จะเห็นได้ว่า ผลของคดีนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกันอย่างน่าสนใจยิ่งกับการเสวนาข้างต้น ผู้เขียนเองจึงเชื่อว่า คดีนี้จะเป็นอีกก้าวย่างสำคัญในการต่อยอดพันธกิจดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม |