สายน้ำคือชีวิต |
สายน้ำคือชีวิต | |
พรรณประภา |
|
“น้ำ” เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ วิถีชีวิตของเราเกี่ยวพันอยู่กับน้ำมาโดยตลอด เราได้รับประโยชน์มากมายจากการใช้น้ำ ทั้งในด้านการอุปโภคและบริโภค แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็อาจจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากน้ำหรือเกิดปัญหาจากการใช้น้ำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง หรือปัญหาอุทกภัย ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ หรือปัญหามลพิษทางน้ำ ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ปัญหาเกี่ยวกับการใช้น้ำที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ล่าสุดก็คือ ปัญหาที่เกิดกับการเลี้ยงปลาในกระชัง กรณีชาวบ้านจังหวัดนครพนมที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำสงครามได้รับความเสียหายจากการที่ปลาในกระชังมีอาการน็อกน้ำลอยแพตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านบางคนคาดว่าสาเหตุที่ปลาตายอาจเกิดจากการปล่อยสารพิษบริเวณต้นแม่น้ำสงคราม ซึ่งชาวบ้านได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบสาเหตุและให้ความช่วยเหลือ ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่า ในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขงมีระดับเท่ากัน ทำให้มวลน้ำ ไม่หมุนเวียน ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ ทำให้ปลาขาดอากาศ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ปลาตายได้ และกรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชย |
|
![]() ที่มาภาพ : http://www.khaosod.co.th |
สำหรับปัญหาที่เกิดกับการเลี้ยงปลาในกระชังนั้นมีมาโดยตลอด และเคยมีกรณีที่นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เช่น เมื่อปี ๒๕๔๙ มีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่แม่น้ำบางปะกงนำคดีมาฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐระบายน้ำจากโครงการชลประทานลงสู่แม่น้ำบางปะกง ทำให้ปลาในกระชังของผู้ฟ้องคดีตายจำนวนมาก และในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐระบายน้ำเสียลงสู่แม่น้ำบางปะกง โดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบล่วงหน้า ทำให้ปลาของผู้ฟ้องคดีตาย เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี หน่วยงานทางปกครองจึงต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๕๙๐/๒๕๕๔ และคดีหมายเลขแดงที่ อ.๔๗/๒๕๕๕) |
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง และมีการลงทุนต่ำกว่ารูปแบบการเลี้ยงอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมใช้เลี้ยงปลาในแม่น้ำสายต่างๆ ของไทย แต่หากน้ำในบริเวณที่เลี้ยงปลามีค่าออกซิเจนต่ำ ก็อาจทำให้ปลาตายได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำนั้นมีได้หลายสาเหตุ เช่น การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสาหร่าย (Algal bloom) หรือมีปริมาณปลาที่หนาแน่นเกินไป ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรมีการเรียนรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้และวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว และถึงแม้ว่าสาเหตุที่ทำให้ปลาตายจะไม่ได้เกิดจากภัยพิบัติ ที่จะทำให้เกษตรกรได้รับเงินชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๖ ก็ตาม แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนในเรื่องแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี | |
![]() ที่มาภาพ : http://northnetthailand.org |
|
นอกจากปัญหาที่เป็นข่าวดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาที่สำคัญและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ ปัญหาอุทกภัย ซึ่งในบางพื้นที่ที่เคยเกิดปัญหานี้ได้มีการวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การวางแผนป้องกันอุทกภัยในบางพื้นที่อาจทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงคิดว่าตนอาจจะได้รับผลกระทบ จึงทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น เช่น เมื่อปี ๒๕๕๕ ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกรณีการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร เพื่อล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม ซึ่งในวันนี้ (๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ส่วนการจัดทำแผนระบายน้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจก้าวล่วงเข้าไปกำหนดให้จัดทำได้ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ ส.๘๖/๒๕๕๗) | |
![]() ![]() |
|
ปัญหาเกี่ยวกับน้ำนั้นสามารถกล่าวถึงได้ในหลากหลายมุมมอง ที่ได้กล่าวถึงในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในโอกาสต่อไปจะได้มีการนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับน้ำในมุมมองอื่นๆ เพิ่มเติมนะคะ |