ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุง Theme ขออภัยในความไม่สะดวก
[ศาลปกครอง]วิกฤติพลังงาน ปัญหาที่รอวันปะทุ
วิกฤติพลังงาน ปัญหาที่รอวันปะทุ

วิกฤติพลังงาน ปัญหาที่รอวันปะทุ

ฝนดิน 
ผู้ช่วยบรรณาธิการ 


เหมืองถ่านหินในตุรกี

ที่มาภาพ www.thairath.co.th

                  หลายคนคงเห็นภาพข่าวเหมืองถ่านหินในตุรกีระเบิดและถล่มลงมาทำให้มีคนงานเสียชีวิตประมาณ 300 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คนทั่วโลก หลายคนเศร้าสลดใจไม่คาดคิดว่า อุบัติเหตุดังกล่าวจะรุนแรงถึงขนาดนี้ และต่างภาวนาให้ช่วยเหลือคนงานที่ยังรอดชีวิตอยู่ออกมาให้ได้มากที่สุด ส่วนใหญ่คนงานเสียชีวิตจากการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไปเกินปริมาณมาตรฐานอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหินของตุรกีครั้งนี้ ใช่จะเกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้าเมื่อปี ค.ศ. 1992 เหมืองถ่านหินอีกแห่งหนึ่ง เกิดก๊าซระเบิดขึ้น ทำให้คนงานเสียชีวิตไปถึง 236 คน และไม่นานมานี้เมื่อ ปี ค.ศ. 2010 เหตุเกิดที่เดิมและสาเหตุเดิม คราวนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 คน
                  เหมืองถ่านหินในโซมาที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้น ถือเป็นเหมืองถ่านหินที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมากของตุรกี  มีปริมาณถ่านหินลิกไนต์สำรองถึง 125.5 ล้านต้น และสามารถนำถ่านหินขึ้นมาใช้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปีถือเป็นกำลังหลักในการใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของตุรกี ทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกขายให้กับหลายประเทศทั่วโลก
                  เมื่อมองภาพรวมของพลังงานถ่านหินแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นพลังงานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนและเป็นพลังงานความร้อนในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินจึงมีแพร่หลายในหลายประเทศ ทดแทนการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรงหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวมทั้งเป็นพลังงานที่มีราคาไม่แพงมาก กระบวนการผลิตก็ไม่ซับซ้อนมากมายนักแต่อาจมีข้อเสียในเรื่องของการปล่อยสารพิษซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนใกล้ๆ
                  สำหรับในประเทศไทยนั้น ถ่านหินที่พบส่วนใหญ่จะเป็นลิกไนต์ แหล่งใหญ่ที่สุดก็จะเป็นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง แม้เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของไทย จะไม่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงเหมือนในตุรกีข้างต้น แต่ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านในบริเวณใกล้ๆ ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ประสบ และเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน จนหลายฝ่ายต้องเข้าไปแก้ไข ทางออกหนึ่งของชาวบ้านที่ใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือ อาศัยมาตรการทางด้านกฎหมาย โดยการฟ้องคดีต่อศาล  และในปัจจุบัน คดีเกี่ยวกับผลกระทบอันเกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดคือ คดีหมายเลขดำที่ อ.1110-1128/2552 โดยในคดีนี้ ชาวบ้าน 131 คน ได้ฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่ากระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ และคดีหมายเลขดำที่ อ.16- 31/2553 โดยในคดีนี้ ชาวบ้าน 318 คน ได้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับพวกรวม 11 คน ว่าละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตรเหมืองแร่

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

ที่มาภาพ www.posttoday.com

                  ปัญหาเหมืองถ่านหินที่เกิดขึ้นตามข่าวข้างต้น แม้จะดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุในการทำเหมืองถ่านหินทั่วไป  ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความหละหลวมของระบบรักษาความปลอดภัย หรือด้วยความประมาทเลินเล่อของคนงาน แต่ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุด ในการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดมาสนองตอบความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่ไม่จำกัด  กระบวนการให้ได้มาซึ่งพลังงานต่างๆ จึงดูจะมีระดับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมดังนั้น การจัดการกับพลังงานต่างๆ ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งควบคู่ไปกับการหาวิธีป้องกันความปลอดภัยทั้งในเรื่องของความปลอดภัยในบุคลากรในเหมืองและโรงไฟฟ้า  และป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม  อุบัติเหตุข้างต้นจึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้กับเหมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ควรตระหนักหันมาตรวจสอบระบบความปลอดภัยของตนเองให้รัดกุมมากขึ้น อีกทั้งแก้ปัญหาอันเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านควบคู่กันไปด้วย

                  ดังนั้น เมื่อพลังงานต่างๆ ยังมีความสำคัญต่อมนุษย์  เราต้องมาคิดกันว่า จะมีวิธีการจัดการพลังงานต่างๆ อย่างไร ให้วิถีทางแห่งการพัฒนาเดินไปด้วยกันกับสภาพแวดล้อมที่ยังคงสภาพเดิมเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์วิกฤติของโลกพลังงาน ทางกองบรรณาธิการจึงขอแนะนำหนังสือดีๆ เพื่อให้แต่ละท่านได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์วิกฤตด้านพลังงานที่อาจระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
                  หนังสือ ชื่อ พลังงานกับปัญหาสิ่งแวดล้อม  เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาตุลาการศาลปกครองด้านสิ่งแวดล้อม(Green Judges) จัดทำโดยคณะกรรมการด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ศาลปกครอง เนื้อหาภายในจะประกอบไปด้วย บทความจากการสัมมนาในเรื่องวิกฤตพลังงาน แนวโน้มและทางเลือกที่เหมาะสม จากนักวิชาการหลายๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน รายงานการศึกษาผลกระทบและแนวทางการจัดการแหล่งพลังงานในทะเล  คดีปกครองเกี่ยวกับพลังงาน และประสบการณ์ต่างๆ ในเรื่องการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จากการดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
                  ท่านที่สนใจสามารถคลิ๊กอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดสิ่งแวดล้อมได้แล้วครับ






ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ : 26 ก.พ. 2559, 14:14 น. | กลับขึ้นด้านบน |